กีฬาแฮนด์บอล (Handball)
แฮนด์บอล เป็นกีฬาประเภททีม และได้ถูกบรรจุลงเป็นกีฬาโอลิมปิกในปัจจุบัน เป็นที่นิยมเล่นกันในทวีปยุโรป มีต้นกำเนิดมาจากประเทศเยอรมันในช่วงศตวรรษที่ 19 ซึ่งคนที่คิดริเริ่มให้กีฬาชนิดนี้ให้แพร่หลายในยุโรปคือนาย Konrad Koch ชาวเยอรมัน ถึงอย่างไรแล้วกีฬาประเภทนี้ก็ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร แต่ในช่วงปี พ.ศ. 2447 ได้มีการพัฒนาหลายๆ อย่าง ทั้งกฎกติกา และได้มีการเอาระเบียบของฟุตบอลเข้ามาผสมกันจนเป็นกีฬาที่เข้าใจได้ง่าย สำหรับในประเทศไทยนั้นแฮนด์บอลไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าไร กีฬาชนิดนี้จะแบ่งเป็น 2 ทีมจำนวนผู้เล่นฝั่งล่ะ 7 คน ซึ่งในตอนแรกนั้นมีจำนวนผู้เล่นฝั่งล่ะ 11 คน เหมือนกับกีฬาฟุตบอล แต่ด้วยความไม่สะดวก บวกกับขนาดสนาม 40 x 20 เมตร (131 x 66 ฟุต) ซึ่งมีขนาดที่เล็กทำให้พื้นภายในสนามดูแน่นจนเกินไป จึงทำให้มีการลดจำนวนผู้เล่นลงเป็น 7 คนเท่านั้น
ต่อมาในปี พ.ศ. 2447 ได้มีการก่อตั้งคณะกรรมการโดยสหพันธ์กีฬาสมัครเล่นระหว่างประเทศ หรือชื่อย่อว่า I.A.A.F ซึ่งเป็นทีมงานที่ดูแลเรื่องเกี่ยวกีฬาในทวีปยุโรปโดยตรง ในปี พ.ศ. 2469 ทางคณะกรรมการ I.A.A.F ได้มีการลงความคิดเห็นว่ากีฬาแฮนด์บอลควรได้รับการยอมรับว่าเป็นกีฬาประเภทหนึ่ง หลังจากนั้นก็ได้มีการเริ่มต้นก่อตั้งสหพันธ์แฮนด์บอลอย่างจริงจังในปี พ.ศ. 2471 ซึ่งการประชุมในครั้งนี้มีประเทศสมาชิกเข้าร่วมถึง 11 ประเทศด้วยกัน
ในช่วงปี พ.ศ. 2471 กีฬาแฮนด์บอลก็ได้ถูกนำมาสาธิตในกีฬาโอลิมปิกให้ทุกคนได้เห็นกันทั่วโลก ปี พ.ศ. 2479 กีฬาแฮนด์บอลก็ได้บรรจุให้เป็นกีฬาระหว่างประเทศจากทาง I.O.C. หรือสหพันธ์กีฬาที่มีการประชุม ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม โดยการบรรจุครั้งนี้เกิดขึ้นในการแข่งขันโอลิมปิกที่ประเทศเยอรมัน เมืองเบอร์ลิน หรือในชื่อ Nazi Olympic กีฬาแฮนด์บอลในช่วงแรกนั้นจะเล่นกันทีมละ 11 คน ซึ่งทางยุโรปเหนือนั้นนิยมเล่นกันแบบ 7 คน การเล่นแบบ 11 คน จึงไม่ได้รับความนิยมเท่าไรจนกลายเป็นว่าการเล่นแบบ 7 คน มีความยืดหยุ่นมากกว่า ทำให้การเล่นแบบ 7 คนถูกใช้เป็นจำนวนผู้เล่นที่ถูกต้องในปัจจุบัน สำหรับกีฬาแฮนด์บอลนั้นจัดว่าเป็นการแข่งขันที่มีความรวดเร็วเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากกีฬาฮอกกี้น้ำแข็ง แล้วด้วยเหตุใดกีฬาชนิดนี้ถึงต้องเล่นในร่มนั้นก็เพราะว่าทวีปยุโรปนั้นเต็มไปด้วยหิมะ จึงทำให้ไม่เหมาะกับการเล่นกลางแจ้ง สำหรับกีฬาแฮนด์บอล ไม่ได้มีแค่ในกีฬาโอลิมปิกเท่านั้น ยังมีในเอเชียนเกมส์ ปี พ.ศ. 2525 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาของกีฬาแฮนด์บอลที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก
สำหรับรายละเอียดอื่นๆ ของกีฬาแฮนด์บอลมีดังนี้
1. สนามกีฬาแฮนด์บอล
สนามเล่นแฮนด์บอลมีขนาดความยาวอยู่ที่ 40 เมตร ความกว้าง 20 เมตร เป็นในลักษณะ 4 เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนของประตู จะมีความสูงจากภายใน 2 เมตร ความกว้าง 3 เมตรด้วยกัน ทำจากโลหะชนิดเบา หรือ ไม้ และวัสดุสังเคราะห์อื่นๆ ตาข่ายจะเป็นแบบหยุ่นตัวได้ ทำให้เวลาบอลเข้าประตูจะไม่กระดอนออกมานอกประตู
2. เวลาการแข่งขันกีฬาแฮนด์บอล
เวลาการแข่งขันแฮนด์บอลแบบมาตรฐานจะแบ่งเป็นสองครึ่งด้วยกัน คือครึ่งแรก 30 นาที และครึ่งหลัง 30 นาที เวลาพัก 15 นาที หากเสมอกันจะมีการต่อเวลา 2 ครั้ง ครั้งแรก 5 นาที ครั้งสองอีก 5 นาที แล้วถ้ายังเสมอกันจะเป็นการตัดสินด้วยการยิงลูกโทษ โดยจะใช้ผู้เล่น 5 คนของแต่ละทีมยิงสลับกัน หากยังไม่รู้ผลจะมีการต่อเวลาพิเศษเพื่อยิงต่อไปจนกว่าทีมใดทีมหนึ่งจะชนะ
3. ลักษณะลูกบอลกีฬาแฮนด์บอล
แฮนด์บอลจะมีลูกบอลเป็นทรงกลมทำจากหนังและวัสดุสังเคราะห์ที่มีมาตรฐาน ผิวของลูกบอลนั้นจะไม่ลื่น ขนาดลูกบอลของนักกีฬาชายนั้นจะอยู่ที่ 58-60 เซนติเมตร น้ำหนัก 425-475 กรัม ในส่วนของนักกีฬาหญิงจะมีขนาดอยู่ที่ 54-56 เซนติเมตร และมีน้ำหนัก 325-400 กรัม ในการแข่งขันแต่ละครั้งจะมีลูกบอลที่ได้มาตรฐาน 2 ลูกด้วยกันตามกติกา และถ้าเริ่มการแข่งขันไปแล้วจะไม่สามารถขอเปลี่ยนลูกบอลในระหว่างการแข่งขันได้ยกเว้นมีเหตุที่สมควรเปลี่ยนขึ้นอยู่กับผู้ตัดสินในสนาม ในการแข่งขันระดับนานาชาตินั้นลูกบอลจะต้องมีตราเครื่องหมายของสหพันธ์แฮนด์บอลนานาชาติเพื่อรับรองว่าลูกบอลนั้นมีมาตรฐานอย่างถูกต้อง
4. การคิดคะแนนกีฬาแฮนด์บอล
แฮนด์บอลนั้นจะคิดคะแนนด้วยการทำประตู 1 ประตูเท่ากับ 1 แต้ม กรณีที่มีผู้เล่นทำเข้าประตูตัวเองแต้มนั้นจะเป็นของอีกฝ่ายทันที เมื่อการแข่งขันจบลงทีมใดได้จำนวนประตูที่มากกว่าอีกฝ่ายก็จะเป็นฝ่ายที่ชนะทันที
5. จำนวนผู้เล่นกีฬาแฮนด์บอล
ในการแข่งขันกีฬาแฮนด์บอลอย่างเป็นทางการนั้นแต่ละทีมจะมีผู้เล่นฝั่งละ 7 คน แบ่งเป็นผู้เล่นในสนาม 6 คน ผู้รักษาประตู 1 คน ในสนามจะต้องมีผู้เล่นฝั่งละไม่เกิน 7 คน
5.1 ช่วงเริ่มต้นการแข่งขันนั้นจะต้องมีผู้เล่นไม่น้อยกว่าฝั่งละ 5 คน
5.2 นักกีฬาสามารถเข้าเล่นได้ถ้ามีชื่ออยู่ในใบบันทึกนักกีฬาและเข้าได้ทุกเวลาเมื่ออยู่ในบริเวณเขตเปลี่ยนตัวของฝั่งตัวเอง
5.3 นักกีฬาสำรองสามารถเข้าได้ตลอดเวลา การเปลี่ยนตัวนั้นสามารถเปลี่ยนตัวซ้ำได้อีกและไม่จำเป็นต้องแจ้งต่อกรรมการฝ่ายบันทึกหรือกรรมการฝ่ายจับเวลา นักกีฬาที่ถูกเปลี่ยนตัวออกจะต้องออกจากสนามทั้งตัวก่อน นักกีฬาตัวสำรองจึงจะเข้าสนามได้ หากทำผิดกติกาการเข้าออกสนามจะถูกทำโทษโดยการให้อีกฝ่ายได้ลูกเตะกินเปล่า กรณีเปลี่ยนตัวผิดในขณะหยุดการแข่งขันนักกีฬาจะถูกห้ามเล่นเป็นเวลา 2 นาที โดยเริ่มเล่นใหม่ตรงจุดผ่านเส้นข้าง
5.4 กรณีนักกีฬาที่อยู่ในสนามเกินจำนวนที่กำหนด แบบไม่มีการเปลี่ยนตัวใดๆ นักกีฬาคนนั้นจะถูกห้ามเล่น 2 นาที และนักกีฬาคนอื่น 1 คน ต้องออกจากสนามแข่งขันเพื่อให้ทีมนั้นเล่น ด้วยจำนวนนักกีฬาที่น้อยลงอีก 2 คน ถ้าผู้ที่ถูกโทษนี้เข้าไปในสนามในขณะโดนโทษอยู่ต้องออกจากสนาม ทั้งช่วงครึ่งแรกและครึ่งหลัง ทีมงานของทีมนั้นๆ จะต้องเป็นคนกำหนดนักกีฬาคนใดที่จะออกจากสนาม ไม่เช่นนั้นกรรมการตัดสินจะเป็นคนกำหนดว่าใครจะออกจากสนาม
6. วิธีเล่นและเทคนิคการเล่นแฮนด์บอล
6.1 การทรงตัว เป็นทักษะเบื้องต้นในการเล่นกีฬาแฮนด์บอลเพราะกีฬาประเภทนี้จะมีการกระโดด วิ่งหรือหยุดอยู่บ่อยครั้ง ทำให้หลักในการยืนนั้นสำคัญอย่างมาก การยืนนั้นต้องก้มตัวเล็กน้อยย่อเข่า ส่วนหัวตั้งตรง สายตามองไปข้างหน้าตลอดเวลา ไม่ควรเกร็งมากเกินไปปล่อยให้เป็นธรรมชาติมากที่สุด ขาทั้งสองข้างควรเคลื่อนที่ตลอดเวลาเพื่อความตื่นตัวในการเล่น
6.2 การครองบอล นักกีฬาสามารถครองลูกบอลได้ทั้งมือเดียวและสองมือ สามารถเปลี่ยนมือไปมาได้ไม่เกิน 3 นาที ในระหว่างถือบอลสามารถก้าวได้ 3 ก้าว
6.3 วิธีตั้งท่ารับส่งลูกบอล แขนควรงอศอกเพื่อให้มือพร้อมรับบอลด้านหน้า ส่วนมือต้องแบเอาไว้เพื่อรอรับบอลที่จะมาจากการส่งของเพื่อนร่วมทีม สายตาของผู้เล่นควรมองไปที่ลูกบอลไม่ควรเสียสมาธิกับผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม การยืนต้องมีความมั่นคงเตรียมตัวรอรับส่งลูกบอลจากเพื่อนร่วมทีม การเล่นแฮนด์บอลที่ดีไม่ควรยืนเฉยๆ ควรวิ่งไปรับบอล ถ้าได้ลูกบอลแล้วควรเก็บบอลเข้าหาลำตัวเพื่อป้องกันบอลหลุดออกจากตัว
6.4 เทคนิคการเลี้ยงลูก ในช่วงเวลาที่ผู้เล่นมีลูกบอลอยู่ควรบังคับลูกบอลให้กระทบกับพื้นสนาม จะทำให้ผู้เล่นก้าวเดินได้ตลอดเวลา ห้ามใช้ฝ่ามือในการผลักลูกบอล การเลี้ยงลูกควรย่อเข่า แขนควรกางไว้ข้างหนึ่ง เพื่อช่วยในการทรงตัวขาควรกางเพื่อความมั่นคง ลำตัวต้องโน้มไปข้างหน้าเล็กน้อย สำหรับการเลี้ยงลูกบอลผ่านคู่ต่อสู้นั้นมีหลายแบบด้วยกัน แบ่งออกเป็นหัวข้อย่อยดังนี้
6.4.1 เลี้ยงลูกบอลแบบต่ำ ใช้เพื่อหลบคู่ต่อสู้
6.4.2 เลี้ยงลูกบอลแบบสูง ใช้เพื่อให้ลูกบอลไปข้างหน้าด้วยความรวดเร็ว
6.5 ทักษะการหมุนตัว วิธีการหมุนตัวจะต้องมีเท้าใดเท้าหนึ่งเป็นหลัก ในกรณีที่จะหมุนตัวให้หมุนไปทางที่ตัวเองต้องการแล้วเท้าหลักยึดตัวเองไว้อยู่กับที่ จังหวะนี้ควรจับบอลให้แน่นด้วยมือสองข้างจะทำให้คุณถูกแย่งบอลยากมากยิ่งขึ้น
6.6 วิธีการยิงประตูของกีฬาแฮนด์บอล กีฬาแฮนด์บอลมีการทำประตูที่เยอะมากต่อเกมทำให้ผู้รับชมรู้สึกสนุกตลอดการแข่งขัน การทำประตูของกีฬาประเภทนี้มีหลายวิธีด้วยกัน ได้แก่
6.6.1 ทำประตูด้วยการยืนยิง
– ทำประตูแบบยืนยิงด้วยมือเดียวเหนือไหล่
– ทำประตูแบบยืนยิงด้วยมือเดียวระดับไหล่
– ทำประตูแบบยืนอยู่กับที่ด้วยการเหวี่ยง
– ทำประตูแบบยืนยิงด้วยมือเดียวระดับต่ำ
– ทำประตูแบบยืนยิงด้วยสองมือ
– ทำประตูแบบยืนยิงกลับหลัง
6.6.2 ทำประตูด้วยการกระโดดยิง
– ทำประตูแบบกระโดดยิงแนวดิ่งด้วยเท้าคู่
– ทำประตูแบบกระโดดยิงแนวดิ่งด้วยเท้าเดียว
– ทำประตูแบบวิ่งกระโดดยิง
– ทำประตูแบบพุ่งตัวตรงไปข้างหน้า
– ทำประตูแบบพลิกตัวยิง
– ทำประตูด้วยการหมุนตัวแบบขว้างจักร
7. การยิงลูกโทษ
7.1 เมื่อผู้ตัดสินเป่าหยุดเล่นเพื่อให้เป็นจุดโทษแล้ว ทางผู้ตัดสินจะให้สัญญาหยุดเล่นก่อนทุกครั้ง
7.2 ในจังหวะยิงจุดโทษ ผู้เล่นที่ไม่ได้ยิงจุดโทษจะไม่สามารถเล่นบอลได้จนกว่าลูกบอลจะโดนฝ่ายตรงข้ามหรือประตู
7.3 ผู้เล่นที่ทำการยิงลูกโทษ จะไม่สามารถข้ามเส้น 7 เมตรได้ก่อนลูกบอลจะหลุดออกจากมือผู้ยิงไปแล้ว
7.4 จังหวะยิงลูกโทษ ผู้เล่นที่ไม่ได้ยิงจุดโทษของฝ่ายผู้ยิงจะต้องอยู่บริเวณนอกเขตเส้น 9 เมตร จนกว่าลูกบอลจะหลุดออกจากมือของผู้ยิงประตู ถ้าฝ่ายยิงทำผิดกฎจะทำให้ฝ่ายตรงข้ามได้ลูกส่งกินเปล่าทันที
7.5 จังหวะยิงลูกโทษ ผู้เล่นอีกฝ่ายที่เสียจุดโทษจะต้องยืนนอกเขตเส้น 9 เมตร หากฝ่ายที่เสียจุดโทษทำผิดกฎ ฝ่ายที่ได้ยิงจุดโทษจะได้ยิงใหม่อีกครั้งในกรณีที่ยิงลูกนั้นไม่เข้า
7.6 กรณีผู้รักษาประตูข้ามเส้น 4 เมตร ก่อนที่ลูกบอลจะออกจากมือผู้ยิงจุดโทษ ผู้ตัดสินจะให้ทำการยิงใหม่ในกรณีที่ยิงลูกนั้นไม่เข้า
8. เครื่องแต่งกายกีฬาแฮนด์บอล
ผู้เล่นที่อยู่ทีมเดียวกันจะต้องสวมใส่เสื้อสีเดียวกัน ในส่วนของนักกีฬาที่เล่นและผู้รักษาประตูนั้นจะสวมเสื้อสีที่แตกต่างกันกับทั้งสองทีมแบบมองเห็นได้อย่างชัดเจน สำหรับเบอร์หมายเลขเสื้อด้านหลังนั้นจะต้องเป็นตัวเลข 1-20 หมายเลข และความสูงของตัวเลขอย่างน้อย 20 เซนติเมตร ในส่วนของตัวเลขด้านหน้าจะมีความสูง 10 เซนติเมตร อีกทั้งสีตัวเลขจะต้องตัดกับสีเสื้อด้วย นักกีฬาจะต้องสวมใส่รองเท้ากีฬา และไม่ควรใส่เครื่องประดับอาทิ เช่น แหวน, สร้อยคอ, กำไล, นาฬิกา, ต่างหู, แว่นตา เป็นต้น เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นอันตรายต่อนักกีฬาคนอื่นๆ กัปตันทีมของแต่ละทีมจะต้องสวมปลอกแขนที่มีขนาดกว้าง 4 เซนติเมตรบริเวณท่อนแขนบน สีของปลอกแขนจะต้องแตกต่างกับตัวเสื้อที่นักกีฬาสวมใส่อีกด้วย
9. หน้าที่แต่ละตำแหน่งของกีฬาแฮนด์บอล
9.1 ตำแหน่งหน้า ผู้เล่นตำแหน่งนี้จะต้องมีทักษะในการเล่นเกมบุกที่ดี ต้องมีความแข็งแกร่งทางร่างกาย ที่สำคัญคือความคล่องตัวต้องสูงเพื่อการทำประตูที่หลากหลาย
9.2 ตำแหน่งปีก ตำแหน่งนี้ผู้เล่นต้องมีความเร็วบวกกับความคล่องตัวสามารถยิงประตูได้ด้วยความแม่นยำ ซึ่งส่วนมากแล้วจะเป็นการทำประตูจากมุมที่แคบทางด้านข้าง
9.3 ตำแหน่งหลัง เกมรับถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากเช่นกันสำหรับกีฬาแฮนด์บอล เพราะการป้องกันเกมรุกของอีกฝ่ายได้จะทำให้ทีมไม่เสียประตู และมีโอกาสได้เป็นฝ่ายโต้กลับอีกด้วย ดังนั้นผู้เล่นตำแหน่งนี้ต้องมีความฉลาดในการอ่านเกมของฝ่ายตรงข้าม ร่างกายต้องแข็งแรงมากเพื่อป้องแนวหน้าของอีกฝ่ายแล้วควรมีความเป็นผู้นำสูง
9.4 ตำแหน่งผู้รักษาประตู ผู้รักษาประตูสามารถเข้าไปเล่นในตำแหน่งผู้เล่นได้ตลอดเวลา ผู้เล่นในสนามก็สามารถเล่นในตำแหน่งของผู้รักษาประตูได้ แต่ต้องเปลี่ยนเสื้อก่อนลงเล่นทุกครั้ง
9.4.1 ภายในเขตประตูนั้นผู้รักษาประตูสามารถใช้ทุกส่วนของร่างกายในการป้องกันประตูได้
9.4.2 ผู้รักษาประตูสามารถถือบอลได้ภายในเขตประตูแต่ถือได้ไม่เกิน 3 วินาทีขณะที่ลูกบอลวางอยู่ที่พื้นและก้าวได้ไม่เกิน 3 ก้าว แต่หากผู้รักษาประตูออกจากนอกเขตประตูจะไม่สามารถถือบอลได้ และจะต้องทำตามกฎเดียวกับผู้เล่นที่ไม่ใช่ผู้รักษาประตู
10. ผู้ตัดสินแฮนด์บอล
ส่วนของผู้ตัดสินกีฬาแฮนด์บอลนั้นจะมีด้วยกัน 2 คน โดยจะแบ่งกันดูแลคนละครึ่งสนาม มีอำนาจในการตัดสินทั้งสองคน และจะมีผู้ช่วยกรรมการคือกรรมการฝ่ายบันทึกกับฝ่ายจับเวลา ผู้ตัดสินจะมีหน้าที่ดูแลสนามแข่งขัน ตาข่ายประตูของทั้งสองฝั่ง รวมไปถึงลูกบอลที่ใช้เล่น เครื่องแต่งกายก็เช่นกัน ถ้ามีการทำผิดกฎของผู้เล่นและความคิดเห็นเรื่องบทลงโทษของกรรมการนั้นต่างกัน จะยึดบทลงโทษของกรรมการในสนามเป็นหลัก ซึ่งผู้ตัดสินทั้งสองจะต้องดูแลคะแนนในการแข่งขัน รวมไปถึงการแจ้งสั่งพัก อีกทั้งยังมีสิทธิ์ในการดูแลการเข้าออกของนักกีฬาภายในสนามตลอดเวลาแข่งขัน
กรรมการฝ่ายบันทึก และกรรมการฝ่ายจับเวลา หน้าที่ของฝ่ายบันทึกนี้จะเป็นคนตรวจสอบรายชื่อผู้เล่นของทั้งสองทีม ซึ่งจะเป็นชื่อผู้เล่นที่เข้าแข่งขันเท่านั้น ฝ่ายจับเวลาจะคอยตรวจสอบผู้เล่นที่ลงสนามหลังจากที่การแข่งขันได้เริ่มไปแล้วหรือผู้เล่นที่โดนโทษต่างๆ
11. บทลงโทษกีฬาแฮนด์บอล
สำหรับการลงโทษของแฮนด์บอลนั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ต่างๆ ในการแข่งขัน การให้ใบเหลืองของผู้ตัดสินนั้นเปรียบเหมือนกับการเตือนในกรณีมีการเล่นที่เริ่มรุนแรงเกิดขึ้น ถ้าโดนสามเหลืองก็จะโดนใบแดงโดยทันที ส่วนใบแดงนั้นส่งผลให้ผู้เล่นถูกไล่ออกจากสนามเป็นเวลา 2 นาที แต่ถ้าหากมีการเล่นที่รุนแรงมากก็อาจจะทำให้โดนใบแดงโดยไม่โดนใบเหลืองก่อนได้ทันทีเช่นกัน
12. มารยาทของนักกีฬาแฮนด์บอลที่ดี
12.1 นักกีฬาต้องแต่งกายให้เรียบร้อยตามกฎกติกา
12.2 ควรมีมารยามที่ดีต่อผู้ชมทั้งในสนามและนอกสนาม
12.3 ไม่ควรแสดงออกถึงอารมณ์ดีใจจนเกินไปเมื่อเป็นฝ่ายชนะ
12.4 จะต้องมีมิตรภาพกับคู่แข่งทั้งก่อนการแข่งขันและจบการแข่งขันด้วยการจับมือทุกครั้ง
12.5 ให้ความเคารพต่อคำตัดสินของผู้ตัดสินการแข่งขัน
12.6 ไม่พูดจาหยาบคาบกับผู้เล่นทีมเดียวกันหรือฝ่ายตรงข้าม รวมไปถึงผู้ตัดสิน
12.7 ปรบมือแสดงความดีใจกับผู้ที่ชนะเสมอ
กีฬาแฮนด์บอลมีวัตถุประสงค์ในเรื่องของมิตรภาพการมีน้ำใจ ทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง รู้จักเรื่องผลแพ้ชนะและไม่แสดงพฤติกรรมล้อเลียนพูดจาเสียดสีฝ่ายตรงข้ามที่พ่ายแพ้ ถือว่าเป็นมารยาทที่ดีของนักกีฬาทุกประเภท